ถัดจาก URL ของเว็บเพจ ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่เราจะเห็นก่อนข้อมูลอื่นๆ คือ Page Title หรือไตเติ้ลของเว็บเพจนั้นๆนั่นเอง ถ้าเป็น URL ของเว็บเพจน่ะ คุณนึกอยู่แล้วว่ามันจะปรากฏในช่อง Address ของโปรแกรมเว็บเบราเซอร์
Page Title ก็คือข้อมูลที่แสดงให้เราบนแท็บของโปรแกรมเว็บเบราเซอร์ไงล่ะ ไม่ว่าเราจะใช้อะไรเป็นเว็บเบราเซอร์ก็ตาม เรากำลังดูเว็บไซต์ไหนอยู่จะปรากฏPage Title ของเว็บเพจนั้นแสดงอยู่ในโปรแกรมเว็บเบราเซอร์
ในเว็บเพจจำนวนหนึ่ง นอกจากเราจะเห็น Page Title แสดงอยู่บนแท็บของโปรแกรมเว็บเบราเซอร์แล้ว ยังจะเห็น Page Title แสดงเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในเว็บเพจนั้นด้วย และมักจะอยู่บนสุดของเนื้อหาส่วนอื่นๆ คนที่ชอบเข้าไปอ่านบล็อกต่างๆ คงนึกภาพตามที่ผมอธิบายได้ไม่ยาก
คุณรู้ไปแล้ว Page Title แสดงผลให้เห็นในตำแหน่งไหน แต่สิ่งที่คุณอาจยังไม่รู้คือข้อมูล Page Title นี้มีผลต่อการทำ SEO เป็นอย่างยิ่ง
Page Title มีหน้าที่ให้ข้อมูลว่า เว็บเพจนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันอะไร ข้อมูล Page Title ของเว็บเพจนั้นจึงเป็นข้อมูลที่เสิร์ชเอนจิ้นให้ความสำคัญมากๆ เราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการกำหนด Page Title ให้เว็บเพจกันมากเป็นพิเศษหน่อย ที่ต้องไม่ลืมเด็ดขาดคือการนำคีย์เวิร์ดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Page Title ด้วย
ใครที่กำหนดข้อมูล Page Title โดยไม่ใส่คีย์เวิร์ดที่เตรียมไว้ก็เท่ากับคุณกำลังทำให้ตัวเองล้มเหลวเรื่อง SEO อย่างไม่เป็นท่า เพราะเป็นการยากมากๆ ครับที่เว็บเพจของเราจะมีแรงกิ้งดีๆ ในคีย์เวิร์ดที่เลือก ทั้งที่เราไม่ได้ใส่คีย์เวิร์ดที่เลือก ทั้งที่เราไม่ได้ใส่คีย์เวิร์ดนั้นลงไปใน Page Title ของเว็บเพจเลย
ในตำแหน่ง Page Title เราต้องใส่ข้อมูล Page Title จริงๆ เข้าไปนะครับ จะใส่เป็นคีย์เวิร์ดเดี่ยวๆ หรือจะเขียนเป็นอธิบายสั้นๆ ที่มีคีย์เวิร์ดรวมอยู่ด้วยก็ได้ทั้งนั้น
ใส่ Keyword ใน Meta Description
ผมพูดถึงเรื่องการกำหนด URL และ Page Title ของเว็บเพจไปแล้ว คราวนี้ผมจะพูดเรื่องการกำหนดข้อมูล Meta Description ให้เว็บเพจกันบ้าง คุณอาจจะยังไม่รู้ว่า ข้อมูล URL , Page Title และ Meta Description ของเว็บเพจนี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดเลยนะ
เกี่ยวยังไงน่ะเหรอ ?
เวลาที่คุณเสิร์ชผ่าน Google ด้วยคีย์เวิร์ดอะไรก็ตาม เคยสังเกตบางหรือเปล่าว่ารายการผลลัพธ์แต่ละรายการที่แสดงขึ้นมาจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกอยู่บนสุด แสดงด้วยสีน้ำเงิน กินพื้นที่แค่บรรทัดเดียว มันก็คือ Page Title ของเว็บเพจนั้นๆ นั่นเอง ส่วนที่สองอยู่ถัดลงมา แสดงด้วยสีเขียว กินพื้นที่บรรทัดเดียวเช่นกัน มันก็คือ URL ของเว็บเพจนั้น และส่วนที่ 3 อยู่ด้านล่างสุด แสดงด้วยสีดำ มักกินพื้นที่ 1-3 บรรทัด มันคือ Description หรือคำอธิบายของเว็บเพจ ข้อมูลที่ 3 ส่วนนี้ Google เรียกมันว่า Snippet ครับ
Description ของเว็บเพจซึ่งปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของ Snippet ที่ว่านี้ มันก็คือข้อมูล Meta Description ของเว็บเพจนั้นเอง
คุณคงพอมองเห็นความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องของ URL , Page Title และ Meta Description ของเว็บเพจแล้วใช่ไหมครับ ข้อมูลทั้ง 3 ส่วนนี้คือข้อมูลที่จะถูกเสิร์ชเอนจิ้นดึงไปแสดงในหน้าผลการค้นหาเมื่อมีการเสิร์ชด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง เท่ากับว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงมีผลต่อแรงกิ้งของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อมูลที่นักท่องเน็ตจะเห็นในรายการผลการค้นหาด้วย