Home » เทคนิควิเคราะห์และเลือก Keyword ให้โดน

เทคนิควิเคราะห์และเลือก Keyword ให้โดน

ถ้าจำไม่ผิด ผมเคยบอกไปแล้วว่า Keyword Research คือ กระบวนการในการหา การวิเคราะห์ และคัดเลือกคีย์เวิร์ดเพื่อนำมาใช้ทำ SEO ในบทก่อนหน้านี้เราเริ่มต้นกระบวนการ Keyword Research กันไปแล้ว เพราะเราได้ลองหาคีย์เวิร์ดสารพัดวิธีกันไปแล้วไงล่ะ มาถึงบทนี้เราก็ต้องนำคีย์เวิร์ดที่ได้มาทั้งหมดมาคัดกรองให้เหลือเฉพาะคีย์เวิร์ดที่ดีที่สุด เหมือนกับการคัดเลือกเพชรน้ำงามออกมาจากโคลนตม แต่ถ้าเลือกผิด หยิบก้อนโคลนตมขึ้นมาทำ SEO แทนเพชร เราก็คงทำเงินจากการทำ SEO ไม่ได้แน่ๆ

วิธีคัดกรองเพื่อให้ได้คีย์เวิร์ดที่ดีที่สุดทำได้ด้วยการวิเคราะห์ว่า คีย์เวิร์ดเหล่านั้นมีคุณภาพเป็นยังไง มีคนใช้เยอะแค่ไหน มีคู่แข่งสักเท่าไหร่ คู่แข่งแต่ละรายน่ากลัวแค่ไหน อะไรประมาณนี้ซึ่งเมื่อวิเคราะห์คีย์เวิร์ดนั้นแล้ว ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกใช้คีย์เวิร์ดในท้ายที่สุด จำไว้ว่าก่อนจะเลือกคีย์เวิร์ดเราต้องวิเคราะห์มันก่อนทุกครั้ง จะเลือกคีย์เวิร์ดด้วยวิธีนั่งเทียนเสี่ยงทายเอาแบบมั่วๆ ไม่ได้ แต่ต้องรู้เทคนิคในการวิเคราะห์และรู้จักใช้เครื่องมือต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ด้วย

บทนี้เราจะไปศึกษากันว่า มีเทคนิคอะไรบ้างที่ควรนำมาใช้ในการวิเคราะห์คีย์เวิร์ดและมีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะช่วยแยกคีย์เวิร์ดดีๆ ออกจากคีย์เวิร์ดห่วยๆ หรือแยกเพชรออกจากตมครับ

หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ Keyword

เทคนิคในการวิเคราะห์และเลือกคีย์เวิร์ดมีมากมาย เครื่องมือที่เราหยิบมาเป็นตัวช่วยก็มีให้เลือกใช้เยอะแยะ แต่โดยหลักการแล้ว หากคุณต้องการประสบความสำเร็จในแง่ของ SEO เพื่อต่อยอดต่อการทำเงินแล้วล่ะก็ เทคนิคในการวิเคราะห์คีย์เวิร์ดมีแค่ 4 ข้อใหญ่ๆ ครับ นั่นคือ…

  1. วิเคราะห์คุณภาพของคีย์เวิร์ด

    คีย์เวิร์ดที่ดีและมีคุณภาพต้องไม่ใช่คีย์เวิร์ดที่กว้างเกินไปจนไม่สามารถจำกัดกลุ่มเป้าหมายได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจำทำเว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์รักษาสิว คุณควรกำหนดคีย์เวิร์ดเป็น รักษาสิว แต่ไม่ควรกำหนดคีย์เวิร์ดเป็น สิว เพราะมันกว้างไป ไม่มีความเฉพาะเจาะจง คนที่ค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด สิว คงไม่ได้สนใจผลิตภัณฑ์รักษาสิวกันทุกคน แต่ทั้งนี้ไม่ใช่พอผมบอกว่าไม่ควรใช้คีย์เวิร์ดที่กว้างเกินไป คุณก็รีบไปหาคีย์เวิร์ดที่แคบๆ มา หรือเฉพาะเจาะจงมากๆ มาใช้นะครับ คีย์เวิร์ดที่แคบหนึ่งเฉพาะเจาะจงมากเกินไปก็ไม่ดีอีกเหมือนกัน เพราะคงมีคนใช้น้อย

    คีย์เวิร์ดที่ดียังต้องมีความหมายที่ชัดเจน ไม่กำกวม หรือตีความไปได้หลายแบบ เพราะนั้นจะทำให้เราเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจริงๆ และทราฟฟิกที่ได้มาก็อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้หรือผลประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย

    คนที่คิดจะทำ SEO โดยมุ่งหวังผลลัพธ์ในแง่รายได้เป็นหลัก ประเด็นที่คุณต้องไม่ลืมวิเคราะห์เด็ดขาดคือมูลค่าทางการตลาดของคีย์เวิร์ด คีย์เวิร์ดที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงมักเกี่ยวข้องกันสิ่งที่ได้รับความนิยมสูงและมีมูลค่าทางการตลาดสูง ยิ่งคีย์เวิร์ดของเราเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มูลค่าทางการตลาดสูงเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะทำรายได้มากๆ จากการทำ SEO ด้วยคีย์เวิร์ดนั้นก็มีเพิ่มขึ้นครับ

  2. วิเคราะห์ปริมาณการใช้งานคีย์เวิร์ด

    ในบรรดาคีย์เวิร์ดที่เรามีอยู่ ถ้าเราอยากรู้ว่าคีย์เวิร์ดไหนดีคีย์เวิร์ดไหนไม่ดี สิ่งหนึ่งที่เราต้องวิเคราะห์ก็คือคีย์เวิร์ดนั้นๆ มีปริมาณการใช้งานมากน้อยแค่ไหน หรือได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง คีย์เวิร์ดไหนที่มีคนใช้ค้นหากันมากๆ ก็แสดงว่าเป็นคีย์เวิร์ดที่ดี ผิดกับคีย์เวิร์ดที่คนใช้ค้นหาน้อยๆ ซึ่งหากเรานำไปใช้ทำ SEO ก็จะทำให้เราได้ทราฟฟิกเพียงน้อยนิด เพราะคีย์เวิร์ดนั้นไม่ค่อยมีคนนิยมใช้กันมากเท่าไหร่

    เรื่องปริมาณการใช้งานคีย์เวิร์ดนี้ เราเดาเอาเองไม่ได้หรอกนะครับแต่ต้องอาศัยเครื่องมือที่เชื่อถือได้มาตรวจสอบให้ เช่น ตรวจสอบด้วย Google Trends เป็นต้น การนั่งเดายกเมฆเอาเองว่าคีย์เวิร์ดนั้นน่าจะมีคนใช้เยอะคีย์เวิร์ดนี้น่าจะมีคนใช้น้อย หรือเดาเอาเองว่าระหว่างคีย์เวิร์ด 2 ตัว คีย์เวิร์ดไหนที่มีการใช้งานมากกว่ากัน ถือว่าเป้นความผิดพลาดขั้นร้ายแรงเลยทีเดียวเชียวครับ

    แต่ปริมาณการใช้งานคีย์เวิร์ดก็ไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่เราต้องคำนึงถึงในการเลือกคีย์เวิร์ดนะครับ เราจะสนใจว่าคีย์เวิร์ดนั้นมีคนใช้งานเยอะๆ ไม่ได้ แต่ต้องตรวจสอบต่อไปด้วยว่า ปริมาณผลการค้นหาของคีย์เวิร์ดนั้นมีมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงต้องรู้จักวิเคราะห์คู่แข่งประกอบการตัดสินใจเลือกคีย์เวิร์ดด้วย

  3. วิเคราะห์ปริมาณผลการค้นหา

    คีย์เวิร์ดที่ดีนอกจากต้องมีคุณภาพและมีปริมาณการใช้งานมากพอสมควรแล้ว ยังควรเป็นคีย์เวิร์ดที่มีปริมาณผลการค้นหาไม่มากจนเกินไปด้วยคำว่า “ปริมาณผลการค้นหา” ก็คือจำนวนรายการผลการค้นหาทีแสดงให้เห็นในหน้าผลการค้นหาของเสิร์ชเอนจิ้นนั่นแหละครับ คีย์เวิร์ดไหนมีปริมาณการค้นหาเยอะๆ คุณลองนึกถึงเวลาที่เสิร์ชด้วยคีย์เวิร์ดบางตัวแล้วเจอผลการค้นหาเป็นล้านๆรายการ นั่นก็แสดงว่าคีย์เวิร์ดนี้มีคู่แข่งเยอะ ในบรรดาผลการค้นหาเป็นล้านๆรายการนั้น ทุกเว็บไซต์ต่างก็แย่งชิงกันขึ้นมามีแรงกิ้งสูงๆ ด้วยกันทั้งนั้น หากเราหวังจะมีแรงกิ้งสูงๆ เราก็ต้องตบตีแย่งชิงกับคนอื่นๆ อีกมากมาย แต่ถ้าคีย์เวิร์ดที่เราเลือกใช้มีปริมาณผลการค้นหาไม่มาก เช่น แค่หลักหมื่นหรือหลักแสน อย่างนี้เราก็พบจะลุยทำ SEO เพื่อสู้ไหว

    แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะมัวมองหาคีย์เวิร์ดที่มีปริมาณผลการวิเคราะห์ประกอบกันด้วย คีย์เวิร์ดบางตัวอาจมีปริมาณการค้นหาน้อย แต่ปริมาณการใช้งานก็น้อยตามไปด้วย แต่ถ้าเราเจอคีย์เวิร์ดที่มีปริมาณผลการค้นหาน้อย แต่กลับมาปริมาณการใช้งานเยอะ เราก็ร้องไชโยดังๆได้เลย เพราะหมายความว่าเรากำลังเจอเข้ากับคีย์เวิร์ดทำเงินเข้าแล้ว ให้รีบนำคีย์เวิร์ดนี้ไปใช้ทำ SEO ได้เต็มกำลังเลย

    เรื่องการตรวจสอบปริมาณผลการค้นหานี้ เดี่ยวผมจะแสดงตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในหัวข้อ “มีคู่แข่งเยอะแค่ไหน Search Engine บอกได้” อีกทีครับ

  4. วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน

    อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกคีย์เวิร์ดด้วย คือเรื่องความสามารถในการแข่งขันของเรา ในบางครั้งเราอาจเจอคีย์เวิร์ดดีๆที่มีปริมาณการใช้งานสูง ขณะที่มีปริมาณผลการค้นหาต่ำ แต่เมื่อสำรวจดูคู่แข่งแล้วกลับพบว่ามีแต่คู่แข่งที่แข็งๆ ทั้งนั้น เช่น เป็นเว็บไซต์ชื่อดัง มีขนาดใหญ่ เป็นของบริษัทใหญ่มีความน่าเชื่อถือ ก่อตั้งมายาวนาน มีทราฟฟิกสูงมาก ๆ หรือมีเว็บมาสเตอร์ที่เก่งกาจด้าน SEO อะไรแบบนี้ เราก็คงต้องคิดให้ดีว่าจะเลือกทำ SEO ด้วยคีย์เวิร์ดนี้ดีหรือเปล่า เพราะการเอาชนะคู่แข่งที่มีประสิทธิภาพกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย

    อยากรู้ว่าคู่แข่งของเรามีใครบ้างก็ไม่ยากเลย แค่ลองค้นหาผ่าน Google ด้วยคีย์เวิร์ดแล้วสำรวจผลการค้นหาทีโผล่ขึ้นมาในลำดับต้นๆ นั่นแหละครับบรรดาคู่แข่งเหล่านี้ของเรา ถ้าอยากทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จ หมายความว่าเราต้องเอาชนะคู่แข่งเหล่านั้นให้นี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อตัดสินใจว่าควรสู้หรือควรถอยดี

    โดยสรุปแล้ว เทคนิคหรือแนวทางในการเลือกคีย์เวิร์ดได้แก่ ต้องเป็นคีย์เวิร์ดที่ทำเงินได้ มีคนใช้เยอะ มีคู่แข่งน้อย และคู่แข่งต้องไม่แข็งเกินไป ถ้ารู้จักเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่มีคุณสมบัติทำนองนี้ เราก็ทำ SEO ให้สำเร็จได้ง่ายขึ้นครับ

อัพเดท