กำหนดข้อมูล Meta Author
ข้อมูลประเภท Metadata อีกอย่างหนึ่งที่เรากำหนดให้หน้าแต่ละหน้าได้ คือข้อมูล Meta Author ซึ่งใช้ระบุว่าใครเป็นผู้เขียนหรือเป็นคนสร้างเว็บเพจนี้ขึ้นมา ในเว็บไซต์ส่วนใหญ่ข้อมูล Meta Author คงเหมือนกันในทุกเว็บเพจ เพราะเว็บไซต์ทั้งเว็บถูกสร้างขึ้นโดยคนๆเดียวหรือองค์กรเดียว แต่เว็บไซต์บางประเภทก็มีข้อมูลในส่วนนี้แตกต่างกันไป
จำได้หรือเปล่า ผมเคยพูดไปแล้วความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์หรือเว็บเพจมีผลต่อแรงกิ้งด้วย และความน่าเชื่อถือของเว็บเพจแต่ละหน้าส่วนใหญ่ก็มาจากความน่าเชื่อถือของผู้เขียนซึ่งเป็นคนเขียนหรือสร้างเว็บเพจขึ้นมา เว็บเพจไหนเขียนโดยคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก หรือเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ในองค์กรที่มีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ เราก็ควรใส่ Meta Author กำกับแต่ละเว็บเพจไว้ด้วย เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเว็บเพจนั้นๆ
อย่าลืมว่า การใส่ข้อมูล Meta Author ให้เว็บเพจเนี่ย แม้คนจะไม่เห็น แต่บอตนะสิครับ
รูปแบบคำสั่งสำหรับใส่ข้อมูล Meta Author ให้เว็บเพจนี้เป็นไงครับ…
<meta name = “author” content = “Meta Author” />
เดาออกใช่มั๊ยครับว่า ในตำแหน่ง Meta Author เราต้องใส่ข้อมูล Meta Author จริงๆ เข้าไป จะเป็นชื่อคนหรือชื่อบริษัทที่เขียนเว็บเพจนั้นขึ้นมาก็ได้ครับ
กำหนดข้อมูล Meta Language
แถมท้ายเรื่อง Metadata กันอีกคำสั่งหนึ่งครับ นั่นคือการกำหนดข้อมูล Meta Language ซึ่งก็คือการบอกให้บอตรู้ว่า เว็บเพจนี้มีเนื้อหาเป็นภาษาอะไร บอตมันก็ไม่ได้โง่ขนาดนั้นหรอกครับ ถึงยังไงบอตก็พอจะรู้ว่า เว็บเพจที่เข้าไปเก็บข้อมูลนั้นนำเสนอด้วยภาษาอะไร หรือใช้ภาษาอะไรมากที่สุด แต่การระบุข้อมูลเรื่องนี้ให้บอตรู้ตั้งแต่ต้นด้วยตัวเอง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีกว่าและชัวร์กว่า
ใช่แล้วครับ การกำหนดข้อมูล Meta Language จะช่วยให้เสิร์ชเอนจิ้นแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนว่า ข้อมูลของเว็บเพจที่จัดเก็บไวในนั้นอยู่ในภาษาอะไร เมื่อมีคนค้นหาโดยกำหนดให้แสดงข้อมูลเฉพาะภาษานั้น เว็บเพจที่กำหนดข้อมูล Meta Language ไว้อย่างชัดเจนจึงมีโอกาสจะมีแรงกิ้งดีกว่านั่นเอง
รูปแบบคำสั่งสำหรับการกำหนดข้อมูล Meta Language เป็นแบบนี้ …
<meta http-equiv = “content-language” content = “Meta Language” />
ในตำแหน่ง Meta Language เราต้องกำหนดภาษาจริงๆ ลงไป เช่น ถ้าจะกำหนดให้เป็นภาษาไทย เราก็ต้องใส่ th ลงไปแทนครับ
ใส่ Keyword ใน Body Text
พูดเรื่อง Metadata ไปเยอะแล้ว คราวนี้มาว่ากันที่เรื่อง Data หรือตัวข้อมูลจริงๆ กันบ้าง ข้อมูลจริงของเว็บเพจคือ สิ่งที่เราเรียกกันว่า Body Text ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมันก็คือบทความทั้งหลาย บอกได้เลยว่า Body Text คือองค์ประกอบของเว็บไซต์ที่เสิร์ชเอนจิ้นให้ความสำคัญที่สุด เพราะ Body Text คือองค์ประกอบหลักของเว็บเพจ ต่อให้คุณใส่คีย์เวิร์ดอะไรไปยังไง ถ้าใน Body Text ไม่มีคีย์เวิร์ดเดียวกันอยู่นั้น หรือมีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดนั้นเลย ก็ไม่มีวันที่เว็บเพจของคุณจะถูกค้นพบในลำดับต้นๆ เมื่อเสิร์ชด้วยคีย์เวิร์ดนั้น
เทคนิคเกี่ยวกับการใส่คีย์เวิร์ดลงใน Body Text นี้มีเยอะแยะครับ ผมขอรวบรวมมาแนะนำเฉพาะเทคนิคสำคัญๆ ก็แล้วกัน คุณลองอ่านแล้วนำไปประยุกต์ใช้ใน Body Text ให้เว็บเพจของคุณดู
ว่าแล้วไปลองศึกษาเทคนิคการใส่คีย์เวิร์ดลงใน Body Text กันเลย…
กำหนดความหนาแน่นของคีย์เวิร์ด ความหนาแน่นของคีย์เวิร์ดคือจำนวนคีย์เวิร์ดที่เราใส่ลงไปใน Body Text ต่อปริมาณ Body Text ทั้งหมด คำแนะนำของผมก็คือ เราควรใส่คีย์เวิร์ดลงไปอย่างน้อย 5-10 % ของ Body Text โดยนับจำนวนคีย์เวิร์ดหลักและคีย์เวิร์ดรองแล้ว
กำหนดตำแหน่งของคีย์เวิร์ด โดยทั่วไปแล้ว Body Text ไม่ได้มีอยู่แค่บรรทัดเดียวหรือย่อหน้าเดียว แต่ประกอบด้วยข้อความหลายๆย่อหน้าเรียงต่อกัน ยิ่ง Body Text นั้นเป็นบทความ ก็มักจะมีหลายย่อหน้ามากขึ้น ข้อแนะนำเกี่ยวกับการวางคีย์เวิร์ดไว้ใน Body Text คือ ควรเน้นใส่ไว้ในบรรทัดแรกๆ หรือย่อหน้าแรกของ Body Text เพราะเป็นส่วนที่มีน้ำหนักมากที่สุด
กำหนด Heading ให้คีย์เวิร์ด เนื้อหาใน Body Text ของเราไม่ใช่ว่าจะมีฟอนต์เดียวกัน ขนาดเท่ากัน หรืออยู่ในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด แต่เราสามารถกำหนดความสำคัญของเนื้อหาบางบรรทัดได้ โดยกำหนดให้มันเป็น Heading หรือหัวเรื่อง ซึ่งตามมาตรฐานแล้วสามารถกำหนดได้ 6 ระดับ
กำหนดฟอร์แมตให้คีย์เวิร์ด นอกจากการกำหนด Heading แล้ว เรายังกำหนดฟอร์แมตเพิ่มเติมให้ตัวอักษรได้อีกหลายลักษณะ เช่น ทำตัวหนา หรือขีดเส้นใต้ ตัวอักษรไหนที่มีฟอร์แมตแตกต่างไปจาก Body Text โดยรวม เสิร์ชเอนจิ้นจะมองว่ามีความสำคัญมาก เพราะดูโดดเด่นกว่าตัวอักษรอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่
กำหนดความใกล้ชิดของคีย์เวิร์ด การกำหนดความใกล้ชิดของคีย์เวิร์ดจะใช้ในกรณีที่คีย์เวิร์ดของเราเป็นวลีซึ่งประกอบด้วยคำ 2 คำขึ้นไป เนื่องจากเสิร์ชเอนจิ้นจะให้น้ำหนักกับคีย์เวิร์ดที่อยู่ชิดติดกันมากกว่า
กำหนดคีย์เวิร์ดให้เป็นลิงค์ อีกวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลจริงในการเน้นความสำคัญของคีย์เวิร์ดใน Body Text ทำได้ด้วยการกำหนดคีย์เวิร์ดนั้นให้เป็นลิงค์ เพราะเสิร์ชเอนจิ้นจะให้น้ำหนักกับตัวอักษรที่เป็นลิงค์มากกว่าตัวอักษรธรรมดา ยิ่งเชื่อมโยงกันได้มากยิ่งดี เพราะบอตของเสิร์ชเอนจิ้นจะได้ไต่ไปทั่วๆเว็บไซต์และใช้เวลาอยู่ในเว็บไซต์ของเรานานขึ้น แล้วเราก็ไม่ต้องเสียเครดิตให้ใครจากการสร้าง External Link โดยไม่จำเป็น